Print
Uncategorised
Hits: 14039

 

เจ้าราชครูหลวงเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่ง  เป็นเจ้าวัดโพนสะเม็กชานเมืองเวียงจันทน์  จึงเรียกท่านว่า "ท่านราชครูโพนสะเม็ก"  เป็นอาจารย์บอกอัฐธรรมกัมมัฏฐานแก่ชาวเมืองและเจ้านายในราชตระกูล  จึงมีผู้นับถือมาก  มีเกียรติคุณโด่งดังเป็นที่เคารพของสามัญชนทั่วไปและเจ้านายในราชตระกูล  ในระหว่าง พ.ศ. 2187 - 2254  พระเจ้าสุรยวงศา  โอรสพระเจ้าด่อนคำได้ครองราชสมบัติ ณ เวียงจันทน์  ล้านช้าง  ในต้นรัชกาลบ้านเมืองไม่ปกติ  บรรดาพระเชษฐาของพระองค์ได้พากันหลบหนีราชภัยไปซุกซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ  ท่านราชครูก็เป็นที่ระแวงของกษัตริย์  มีผู้ทูลยุยงว่าจะเป็นภัยแก่ราชสมบัติ  ท่านจึงคิดอุบายพาศิษย์ โยมอพยพ  ได้ถวายพระพรลาพาญาติโยมอพยพลงมาบูรณะพระธาตุพนม  เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงอพยพครอบครัวชาวเวียงจันทน์ คน 3,000 คน  ลงมา

พ.ศ. 2233  ท่านราชครูได้บูรณะองค์พระธาตุพนมตั้งแต่ชั้นที่ 2  ขึ้นไปถึงยอด  ได้หล่อเหล็กเปียก (ไหล) สวมยอด (อยู่ข้างในองค์ปัจจุบัน)  พร้อมด้วยฉัตร  ถึง พ.ศ. 2235 รวม 3 ปีจึงแล้วเสร็จ เมื่อซ่อมพระมหาธาตุเสร็จแล้ว  ท่านได้แบ่งครัวชาวเวียงจันทน์ไว้อุปฐากพระธาตุพนมบางส่วน  เหลือได้นำอพยพไปตามลำแม่น้ำโขง  ไปอยู่ที่ดอนโขง  ท่านเป็นผู้มีเมตตาพรหมวิหารไปยู่ที่ไหนมีประชาชนเคารพนับถือ  มอบตัวเป็นศิษย์โยมเป็นอันมาก  ในสมัยนั้นนครจำปาศักดิ์ยกผู้หญิง 2 คนเป็นผู้ครองเมือง  คือนางเพากับนางแพงสองพี่น้อง  สืบตระกูลมาจากผู้มีตระกูลชาวล้านช้างที่อพยพลงมาแต่คราวก่อน  สืบต่อจากพระเจ้าสุทัศนะราชาผู้ครองเมือง  ราวจุลศักราช 1,000 ปี

นางเพาและนางแพงมีความเลื่อมใสในคุณธรรมของเจ้าราชครู  จึงอาราธนามาอยูจำปาศักดิ์และมอบเมืองถวายให้ท่านปกครอง  ท่าราชครูได้มอบให้ศิษย์ผู้ใหญ่ดูแลแทน  ต่อมาประชาชนกระด้างขึ้น  มีนักเลงปล้นสะดมภ์  ท่านเห็นว่าจะปราบด้วยอาชญาร้ายแรงก็จะเศร้าหมองในสมณเพศ   จึงให้ศิษย์ผู้ใหญ่ไปเชิญเอาเข้าหน่อกษัตริย์ซึ่งให้พักหลบตัวอยู่ที่บ้านพันลำสมสนุก (เขตอำเภอบึงกาฬ  จังหวัดหนองคาย)  เวลานี้มีพระชนม์ 20  พรรษา  เมื่อเจ้าหน่อกษัตริย์ลงไปถึง  ท่านได้อภิเษกขึ้นเป็นเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธารกูร  เจ้าผู้ครองนครเป็นเอกราชไม่ขึ้นแก่เวียงจันทน์

ท่านราชครูได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น "เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก"  มีอำนาจฝ่ายพุทธจักร  เป็นราชครูของราชตระกูลจำปาศักดิ์สืบมา  เมื่ออายุได้ 90 ปี  ท่านราชครูหลวงมรณภาพด้วยโรคชรา  ณ วันพุธ  ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2263  ประชาชนมักเรียกกันว่า "เจ้าราชครูขี้หอม"  เพราะเป็นที่เคารพสูงมาก  เจ้าสร้อยศรีสมุทรและศิษย์ทั้งหลายได้แบ่งอัฐิส่วนหนึ่งมาก่อเจดีย์บรรจุไว้ ณ บริเวณกำแพงธาตุพนมยังอยู่จนบัดนี้  เรียกกันว่า "ธาตุท่านขี้หอม" บ้าง " ธาตุพระอรหันต์ภายซ้อย" บ้าง  (อยู่นอกกำแพงชั้น 2  มุมกำแพงด้านเหนือตะวันตก)