Print
ประเพณีและวัฒนธรรม
Hits: 22166

ความหมายบาศรีสูตรขวัญ

บาศรีสูตรขวัญเป็นประเพณีดั้งเดิมเก่าแก่ที่นิยมกระทำสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ถือว่าเมื่อจัดพธีนี้แล้วจะเป็นมงคลแก่ชีวิต  เป็นสิริมงคลเป็นกำลังใจในการที่ประกอบคุณงามความดีต่อไป  และให้มีความสุขความเจริญในชีวิต

แต่เดิมนั้นบาศรีสูตรขวัญเป็นพิธีที่จัดซึ่งเจ้านายผู้ใหญ่ทำกัน  จึงเรียกว่า บาศรี เพราะคำว่า  บา ได้แก่เจ้าขุนมูลนาย  เช่นเจ้านายมักเรียกว่า  บาคาน,บาท้าว,บาบ่าวท้าว  เป็นต้น  ศัพท์คำว่า  บาศรี  คือการทำสิริให้กับชนผู้ดี  เพราะฉะนั้นคำว่า  บาศรี  จึงเป็นศัพท์ดั้งเดิมเก่าแก่จริงๆที่นิยมเรียกกันมาตั้งแต่โบราณกาล

สูตร เป็นคำเก่าแก่ของคนอีสาน  ที่นิยมเรียกการสวดว่า "สูตร"  เช่นสวดมนต์อีสานเรียก  "สูตรมนต์"  พิธีสวดเหมือนสวดมนต์เช่น  สวดขวัญ  จึงเรียก  "สูตรขวัญ" บาศรีสูตรขวัญเป็นพิธีของพราหมณ์  บรรพบุรุษของเรานับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์  แต่ก็ถือจุดมุ่งหมายเดียวกัน  คือ  ทำเพื่อให้มีกำลังใจดีขึ้น  หรือทำไปในทางที่ดีขึ้น

ขวัญ พวกเราถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน  เห็นหรือจับต้องไม่ได้  เชื่อว่าคล้ายจิตวิญญาณ  ซึ่งแฝงอยู่ในตัวตนของคนและสัตว์ตั้งแต่เกิดมา  และจะต้องอยู่ประจำตัวตนตลอดเวลา  ตกใจ  เสียใจ  ป่วยไข้  ขวัญจะหนี  อาจทำให้กับถึงตายได้  ฉะนั้นต้องเรียกขวัญ  สูตรขวัญเพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่กับตน  จะได้สุขสบาย  ในบางแห่งมักแปลว่ากำลังใจ  และยังหมายความว่า "เป็นที่รักที่บูชา"  เช่นเรียกลูกที่รักว่า  "ลูกขวัญ"  เรียกเมียที่รักว่า  "เมียขวัญ"  สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือนำมาฝากนำมามอบให้เพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจต่อกันนิยมเรียกว่า  "ของขวัญ"

พิธีบาศรีสูตรขวัญของชาวอีสานที่นิยมกระทำอยู่จนทุกวันนี้  มีทำกันอยู่  2  พิธีคือ  พิธีทางพุทธศานา  และพิธีทางศาสนาพราหมณ์

พิธีทางพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย  5  รูป  มาเจริญพระพุทธมนต์  ตั้งบาตรน้ำมนต์  พาขวัญ  เสร็จแล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์  พระสงฆ์สวดไชยมงคลคาถา  ในพิธีถ้ามีศรัทธามากจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพลด้วยก็ได้  แล้วนำฝ้ายผูกแขนมาผูกให้เจ้าของขวัญก็เป็นเสร็จพิธี

พิธีทางศาสนาพราหมณ์ จะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และพิธีการหลายอย่าง  ดังนี้

พาขวัญหรือพาบายศรี

การจัดพาขวัญนี้  ปกติจะต้องจัดด้วยพานทองเหลืองหรือขันสัมฤทธิ์(โอลงหิน)  หลายๆใบซ้อนกันให้สูงขึ้นไป  มีใบตองสด  ดอกไม้  ผลไม้  ฝ้ายผูกแขน(ข้อมือ)  พาขวัญนี้นิยมจัดเป็น 3-5-7  ชั้น  แล้วแต่ความสามารถของผู้จัด  แต่มีความเชื่อเป็นธรรมเนียมว่า  3-5  ชั้นเป็นพาขวัญสำหรับคนธรรมดาสามัญ  ส่วน  7-9  ชั้นสำหรับเชื้อพระวงศ์และพระมหากษัตริย์  ชั้นต่างๆของพาน  จะมีใบศรี  (ทำด้วยใบตองกล้วยสด)  มีดอกไม้  ใบไม้  ข้าวต้มมัด  ขนม  กล้วย  อ้อย  ปั้นข้าวเหนียว  มีดด้ามแก้ว  มีดด้ามคำ  (แข่วคำ)  ชั้นที่  2-3  และ  4  จะแต่งด้วยใบศรีและดอกไม้ ซึ่งมักจะเป็นดอกผาง  ดอกดาวเรือง  ดอกรัก  ใบเงิน  ใบทอง  ใบนาก  ใบคูณ  ใบยอป่า  อย่างสวยงาม  ส่วนชั้นที่  5  จะมีใบศรีและฝ้ายผูกแขน

นอกจากนี้จะมีเครื่องบูชาอื่นๆอีก  เช่น  ขัน 5  พาข้าว  1  สำรับ  เหล้า  1  ขวด  พานขนาดกลางสำหรับวางผ้า  1  ผืน  แพร  1  วา  หวี  แว่น (กระจกเงา)  น้ำอบ  น้ำหอม  สร้อยแหวนของเจ้าของขวัญ  สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ  เทียนเวียนหัว  (เป็นเทียนที่ทำจากขี้ผึ้งแท้ที่ได้จากรังผึ้ง)  มีความยาวขนาดวัดรอบศีรษะของเจ้าของขวัญ

ถ้าเป็นงานแต่งงานนิยมเอาเทียนเวียนหัวของเจ้าบ่าว  เจ้าสาว  มาฝั้นให้เป็นเทียนเล่มเดียวกัน  ซึ่งเปรียบเสมือนใจสองดวงมารวมกันเป็นใจดวงเดียวกัน  เอามาวางไว้ในพาขวัญเพื่อให้พราหมณ์จะได้จุดเทียนนี้บูชาก่อนเริ่มพิธี

ถ้าเป็นพาขวัญในงานกินดอง (แต่งงาน)  คนจัดพาขวัญจะต้องเป็นคนบริสุทธิ์ (ปลอด)  คือเป็นคนดี  เป็นผัวเดียวเมียเดียว  ไม่เคยหย่าร้าง  ถ้าจัดไม่เป็นเพียงมาจับให้เป็นพิธีแล้วให้คนอื่นจัดต่อไปจนเสร็จ  ต้องจัดทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิง  พาขวัญฝ่ายชายต้องให้หญิงบริสุทธิ์  (เด็กหญิงที่ไม่เคยมีรอบเดือน)  หามด้วยไม้ทอหูก (ไม้กำผั้น)  โดยใช้ด้ายขดโตๆถักเป็นหูสำหรับหาม  เหตุที่ใช้ไม้หูก  เพราะถือเคล็ดเอาความสามัคคีรักใคร่ของไม้และผ้า

พาขวัญต้องมีอาหารคาวหวานเป็นส่วนประกอบด้วย  เมื่อแต่งพาขวัญเสร็จแล้วต้องนำไปวางในที่เหมาะสมก่อน  ต้องวางให้ดี  อย่าให้ล้มได้  (คนโบราณถือนักถือหนาห้ามทำให้พาขวัญล้มเด็ดขาด  เพราะถ้าล้มจะเป็นเหตุบอกลางร้ายต่อเจ้าของขวัญ)   เมื่อได้เวลาสูตรขวัญเมื่อจะเริ่มพิธีให้ยกไปตั้งท่ามกลางญาติมิตร  บนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ

ข้างๆพาขวัญนอกจากมีอุปกรณ์ต่างๆดังกล่าวแล้วยังต้องมีแก้วน้ำหรือขันน้ำใส่ด้วยฝักส้มป่อย (กระถินป่า)  หรือว่านหอมและแก้วใส่เหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่มหรือพ่นหรือใช้ดอกไม้  ใบไม้จุ่มสลัดใส่พาขวัญก่อนจะผูกแขนหลังสูตรขวัญแล้ว  พิธีสลัดน้ำนี้เรียกว่าบทมิดฟาย

ฝ้ายสำหรับผู้แขน (ผูกข้อมือ)

ฝ้ายที่จะนำมาประกอบในพิธีต้องเป็นฝ้ายดิบ  นำมาจับเป็นวง  วงละ  3  เส้น  ถ้าทำให้ผู้มีศักดิ์มีตระกูลใช้  5  เส้น  (อาญา 5  ขี้ข้า  3 )  เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือตัดให้ขาดเป็นเส้น (ห้ามใช้มีดตัด)  จะใช้มีดตัดได้เฉพาะผูกศพแล้วเท่านั้น  ด้ายผูกแขนนี้ทำให้เพียงพอสำหรับผู้ที่จะมาในงาน  เมื่อทำมากเพียงพอแล้วผูกไว้กับก้านมะพร้าวที่เหลาเรียบร้อย  แล้วเอาไปปักตามใบศรีในพาขวัญ

การสวดหรือการสูตรขวัญ

เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก  คนอีสานประกอบพิธีบาศรีสูตรขวัญทุกงาน  เช่น

การจะประกอบพิธีเจ้าภาพต้องจัดหา  เชิญพราหมณ์  (หมอสูตรขวัญ)  ไว้ล่วงหน้า  ปกติพราหมณ์จะเป็นผู้ทราบพิธีสูตรขวัญ  เป็นผู้ที่ชาวบ้านนับถือในหมู่บ้านนั้นๆ  พราหมณ์สูตรขวัญเมื่อก่อนนุ่งห่มธรรมดา  เพียงแต่มีผ้าขา วหรือผ้าขาวม้าพาดบ่าก็พอ  ปัจจุบันหมอสูตรขวัญหรือพราหมณ์จะนุ่งขาวห่มขาว  ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน

ก่อนพราหมณ์จะทำการสูตรขวัญเจ้าภาพต้องเตรียมฝ้ายผูกแขน(ข้อมือ)พราหมณ์ไว้  ซึ่งเป็นฝ้ายดิบธรรมดา  และยังเป็นธรรมเนียมต้องผูกธนบัตรกับด้ายผูกแขนพราหมณ์  ถือว่าเป็นการบูชาครู  จำนวนธนบัตรนั้นจะมากน้อยตามแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร  เจ้าภาพเป็นผู้ผูกข้อมือพราหมณ์ด้วยด้ายผูกข้อมือนี้

พราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งหันหน้าไปทางทิศใดก็ได้ตามที่พราหมณ์เห็นว่าเหมาะสม  เจ้าของขวัญนั่งลงแล้วยกมือไหว้พราหมณ์  เสร็จแล้วใช้มือขวาจับพาขวัญ  ตั้งจิตอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนนับถือบันดาลให้เป็นไปตามที่พราหมณ์สูตร  พวกญาติมิตรจะนั่งเป็นวง  ล้อมทางด้านหลัง  พราหมณ์จะจุดเทียนเวียนหัวของเจ้าของขวัญแล้วจุดธูป  กราบพระพุทธรูป  กราบพระสงฆ์(ถ้ามี)  และไหว้พระ  กล่าวว่า

นโมตัสสะ  ภควะโต  อรหะโต  สัมมา  สัมพุทธัสสะ ( 3 หน)  แล้วกล่าวคำอัญเชิญเทวดา  ดังนี้

สัคเค  กาเม จ  รูเป  คิริสิขรัตเต  จันตลิเข  วิมาเน.  ทิเป  รัฐเฐ  จ  คาเม,  ตรุวน  คหเน  เคห  วัตถุมหิ  เขตเต,  ภุมมา  จา  ยันตุ  เทวา  ชลถลวิสเม  ยักข  คันธัพ  นาคา  คิฏฐันตา  สันติเก  ยัง  มุนิวรวจนัง  สาธโวเม  สุนันตุ,  ธัมมัสสวนกาโล  อยัมทันตา  (ว่า  3  หน)

เสร็จแล้วผู้เป็นพราหมณ์ก็สูตรขวัญ  โดยเลือกเอาบทสูตรที่เหมาะสมกับงานการสูตรนั้นๆ  การสูตรต้องสูตรให้เสียงดังฟังชัดเจน  สละสลวย  ไพเราะ  ฟังแล้วเกิดความดีใจ  เกิดศรัทธาปสาทะอุตสาหะในการที่กระทำความดียิ่งขึ้น

คำเชิญขวัญ

ศรีๆ  สิทธิพระพร  บวรดิเรก  อเนกเตโช  ไชยะมังคะละ  มหาสิริมังคะเรศ  ศาสตรเทพพร้อมอาคม  ขุนบูฮูมปุนแปงไว้แล้ว  ให้ลูกแก้วออกกินเมือง  ฤทธีเฮืองทะรงแท่น  มื้อนี้แม่นมหาคุณ  ขุนแกนดาแต่งแล้ว  ให้ลูกแก้วกิ่งลงมา  เป็นราชาสืบสร้าง เมืองมิ่งกว้างนาครอง  วันนี้ปองเป็นโชค  ไตรโลกเจ้าย่อมลือชา  ทะรงอินทานุภาพยิ่ง  เป็นเจ้าจอมมิ่งเมืองแมน  ทะรงแท่น  ถนัดล้ำมื้อนี้ค้ำคูณคง  พญาจักรทะรงทศราช  พรหมนาถเล่าแถมพร  พระอิศวรหลอนแถมโชค  พระนารายณ์โยคสิทธิชัย  ท้าวสหีสนัยประกาศฝนห่าแก้ว  ใจผ่องแผ้วบริสุทธิ์  อุตตะมะโชค  อุตตะมะโยค  อุตตะมะดิถี  อุตตะมะนาที  อุตตะมะศรีพิลาศ  อินทะพาสพร้อมไตรยางค์  ทั้งนะวางคาดคู่พร้อมกันอยู่สอนลอน  อาทิตย์จรจันทะฤกษ์  อังคารถืกมหาชัย  พุธพหัสไปเป็นโชค  ศุกร์เสาร์โยคเดชมุงคุล  อันเป็นผลหลายประโยค  อุตตะมะโชคแก้อีหลี  มเหศักขีหลิงล่ำโลก  ให้หายทุกข์โศกนานา  พระอภัยราชาขึ้นทะรงแท่น  หายโภยภัยแม่นวันดี  กัณหาชาลีเมือฮอดเมืองปู่  สถิตย์อยู่เย็นใจ  ท้าวศรีสญชัยภูวนาถ นิรมนต์ราชบุตรตา  ให้เป็นราชาคืนดังเก่า  เป็นเจ้าเล่าสองที  วันนี้เป็นดิถีทั้งห้า  เจ้าฟ้าเล่าแถมคุณ  พรหมมะปุนปองราช  พรแก้วอาจสิบประการ  วรสารโตองอาจ  ขึ้นสู่ราชเล็งโญ

วันนี้โพธิญาณหน่อฟ้า  เดชะกล้าถวายเมือง  พระบุญเฮืองคุ้มครองไพร่  ทศราชไต่ตามธรรมจำนำสัตว์ให้พ้น  วันนี้ดีลื่นล้นประมาณ  หุละมานใจผ่องแผ้ว  นิรมิตรผาสาทแก้วก่อแปงเมือง  นาคเฮืองทศราช  เซียงเคืออาจขุนเม็ง  เงินยวงเงเนาว์เนืองคับคั่ง  สะพั่งพร้อมหมู่เสนา  เทวดามาเป็นบริวารแวดล้อม  มาอยู่อ้อมทุกหมู่โยธา  ทั้งนาคานาคีครุฑนาค  ทุกภาพพร้อมธรณี  เมกขลาศรีสาวท่าว  เซื้อท่อนท้าวบรเมศวร  บรบวรฤทธิเก่งกล้า  เอาแผ่ฟ้าขี่ต่างยาน  กุมภะกัณฑ์นาลยมราช  จตุโลกอาจองหลวง  ทั้งคว่างบนบูฮมเจ้าฟ้า  เดชะกล้ากว่าสิ่งทั้งหลาย  จึงยายยังพระพรและคว่างจุ้ม  ลงมาตุ้มแดนด้าวขอกคินี  พระรัสสีสิทธิเดช  จบเพศพร้อมอาคม  นิยมประสิทธิ์ประสาทพรแก้วอาจดวงดี  มื้อนี้แม่นมื้อสรรพ์  วันนี้แม่นวันชอบ  ทั้งประกอบด้วยฤกษ์งามยามดี  เป็นศรีสิทธิไชยะมุงคุลดิเรก  อเนกแท้สวัสดีแท้อีหลี

บัดนี้  ฝูงข้าน้อย  ใจซื้นซ้อยยินสออน  ขอโอมอ่านอวยพรแก่.............ผู้ทะรงคุณคามมาก  ข้าน้อยหากขอวอน  คุณอนุสรณ์สามสิ่ง  คือพระรัตนตรัยแก้วสิ่งดวงดี  กับทั้งคุณประเสริฐศรีทุกแห่ง  ทุกแหล่งหล้าสรวงสวรรค์  จงมาเสกสรรค์เป็นพระพร  คืออายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  อโรคยา  ปะฏิภานะ  อะธิปะติ  คุณสารสมบัติทุกเรื่อง  ขอเดชานุภาพกระเดื่องทุกกรณี  ดังแสงสุรีย์ส่องสว่างโลก  หายทุกข์โศกสวัสดี  ชะยะตุ  ภะวัง  ชะยะมังคะลัง  จงเป็นไชยะมุงคุลอันแวนยิ่ง  ถ้วนทุกสิ่งบริบูรณ์  นั้นเทอญ