Print
ประเพณีและวัฒนธรรม
Hits: 23879

          สรภัญญะหรือสารภัญญะเป็นทำนองสวดในพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง  เมื่อชาวบ้านเอามาร้องจึงจัดเป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง  นิยมร้องกันในเทศกาลออกพรรษา  โดยเฉพาะในงานทอดผ้าป่า  สังฆทาน  ในอดีตจะมีการฝึกร้องกันแทบทุกหมู่บ้าน   เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดในงานทอดถวายเทียนพรรษา  เราได้ประโยชน์จากการสวดสรภัญญะก็คือ  ชาวบ้านได้มีการพบปะร่วมกิจกรรมเป็นการเสริมสร้างความสามัคคี  ให้ความเพลิดเพลิน  ส่งเสริมวรรณกรรมอีสาน  ชาดกต่างๆในพุทธศาสนา  และโดยเฉพาะเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะอบรมสั่งสอนข้อธรรมะให้กับชาวบ้าน
          การร้องสรภัญญะจะเริ่มที่กลอนบูชาพระรัตนตรัย  กลอนแนะนำตัว  กลอนทักทายผู้ที่อยู่ในงาน  กลอนแสดงโวหาร  แสดงความรู้ความสามารถและความไพเราะ  และจะจบลงด้วยกลอนลา
                                          ตัวอย่างบทกลอนร้องสรภัญญะ

กลอนบูชาพระรัตนตรัย

                                        ข้าขอประนมกร            กราบวิงวอนรัตนา
                               ขอบูชาแก้วทั้งสาม                ที่ลือนามทั่วทิศา
                                        พุทโธผู้ตื่นแล้ว            รู้แนวทางที่ประเสริฐ
                               ล้ำเลิศทั่วแดนไกล                ฟูเฟื่องไกลในโลกา
                                       จะหาท่านองค์ใด          หญิงชายเท่าพุทโธ
                               มโนควรนอบน้อม                  พร้อมใจกันไหว้วันทา
                                       มโนน้อมคุณพระธรรม      ที่ควรจำคำสั่งสอน
                               เปรียบดังพรที่ล้ำค่า                ศาสดาจารึกไว้
                                      ทำให้ชาวประชา            ทั่วถ้วนหน้าอยู่สุข
                               อย่ามีภัยเบียดเบียน                เพราะคำเตือนของพุทโธ
                                      มโนควรนอบน้อม            พร้อมใจกันไหว้วันทา
                              ปรารถนาครั้งที่สอง                  คิดไตร่ตรองถึงคำสอน
                                     สังโฆคือพระสงฆ์              องค์สาวกศาสดา
                             ได้นำพาให้ท่านพ้น                    ความกังวลในหัวใจ
                                    กำหนดให้พ้นทุกข์              พ้นศัครูและอบาย
                             ได้บรรยายให้ธรรมะ                   ให้สละถึงกิเลส
                                    ด้วยเหตุที่พระสงฆ์              มีบุญญาน่าเลื่อมใส
                             ทุกท่านโปรดจำไว้                    ควรน้อมใจทุกท่านเทอญฯ
กลอนทักทาย
                                     พวกเราแสนดีใจ                พบกันใหม่ในวันนี้
                              ยอกรสวัสดี                            เพื่อนนารีอยู่ที่ใด
                                    โชคดีได้เจอกัน                 มาประชันในวาที
                               คงสุขทุกข์บ่มี                        คงสุขีทุกวี่วัน
กลอนไหว้ครู
                                     ข้าขอกราบไหว้คุณ            อันไพบูลย์พระอาจารย์
                               กรุณาทุกประการ                     พระอาจารย์ท่านสั่งสอน
                                      ยังไม่รู้สอนให้รู้                 คุณของครูอุตส่าห์สอน
                                ความรู้ที่ควรสอน                     ท่านก็สอนให้ชัดเจน
                                      วิชาความรู้แจ้ง                 ครูชี้แจงให้แลเห็น 
                                รักใคร่ไม่เอียงเอน                    หวังให้เป็นฉลาดคม
                                       ดีชั่วสอนเป็นนิตย์              สอนลูกศิษย์ให้ดีงาม
                                 รู้แจ้งปัญญาคม                      ให้ชื่นชมมนัสสา
                                       เดือนมืดไม่รู้ธรรม              เหมือนเจ้าต่ำเที่ยวคลำหา
                                 ความมืดเหมือนหลับตา              สอนวิชาให้เห็นจริง
                                        สอนโง่ให้ฉลาด                สอนนักปราชญ์ให้รู้จริง
                                  อาจารย์ท่านสอนยิ่ง                 ให้รู้จริงปัญญาญาณ
การขับร้องสารภัญญ์ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัยในพุทธศาสนา  การร้องมีหลายทำนองเช่น  ทำนองโศก  กาเต้นก้อน  ลมเชยผา    ทำนองลูกลมพัดพร้าว ฉันทลักษณ์ของสรภัญญะปกติแล้วจะเป็นกลอน 11  หน้า 5  คำ  หลัง 6  คำ  ปัจจุบันยังมีการส่งเสริมโดยจัดประกวดในระดับต่างๆ  เป็นการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสามัคคี  ซาบซึ้งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ  นอกจากนั้นยังส่งเสริมการประพฤติดีประพฤติชอบตามหลักธรรมของพุทธศาสนา  เราควรอนุรักษ์และส่งเสริมให้คงอยู่คู่สังคมบ้านเราต่อไป