ประเพณีไหลเรือไฟ

ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมประเพณีส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน  ถึงจะแตกต่างกันออกไปบ้างในบางท้องถิ่นก็เป็นส่วนน้อย  ประเพณีที่ยึดถือเป็นส่วนใหญ่นั้นก็คือ  ฮีตสิบสอง  หรือประเพณีสิบสองเดือน  นั่นเอง  ฮีต เป็นคำพื้นเมืองอีสานหมายถึง  ประเพณีอันเนื่องด้วยศีลธรรม  ส่วนรวมถือว่ามีค่าแก่สังคม  ใครประพฤติฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่กระทำตามที่กำหนดถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว  ฮีตสิงสองของขาวอีสานเป็นเรื่องความเชื่อในพระพุทธศาสนาและประเพณีนิยมพื้นบ้าน  จุดประสงค์เพื่อให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมทำบุญเป็นประจำทุกๆเดือนในรอบปี  รวมทั้งเป็นจารีตบังคับให้ทุกคนเสียสละทำงานร่วมกัน  ประเพณีแรกของฮีตสิงสองจะเริ่มเดือนเจียงหรือเดือนอ้าย  ถึงเดือนสิบสองซึ่งเป็นเดือนสุดท้าย  เป็นช่วงของการทำบุญกฐิน

ประเพณีไหลเรือไฟถือเป็นฮีตย่อยปฏิบัติกันในหมู่บ้านหรือบางจังหวัด  อยู่ในเดือนสิบเอ็ดซึ่งเป็นช่วงของงานบุญออกพรรษา  ไหลเรือไฟถือเป็นกิจกรรมประเพณีของช่วงเดือนนี้  ซึ่งมีกิจกรรมประเพณีอื่นประกอบ  คือ  งานแข่งเรือ  งานแห่ปราสาทผึ่ง  และจุดไต้ประทีป

ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีที่ชาวอีสานบางส่วนที่อาศัยอยู่ไกล้แม่น้ำยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว  เดิมชาวบ้านเรียกประเพณีนี้หลายชื่อ  คือ  ลอยเฮือไฟ  ลอยเรือไฟ  แต่ปัจจุบันยอมรับและนิยมเรียกว่า  ไหลเฮือไฟ  หรือไหลเรือไฟ

 

คติและความเชื่อ

ไหลเรือไฟ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาตามคติ  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อใด  เข้าใจว่าพิธีกรรมที่ยึดถือกันมาเป็นประเพณีนี้จะจัดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นในบางจังหวัดที่มีชัยภูมิที่เหมาะสมคือ  มีแม่น้ำหรือลำน้ำ  เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางปฏิบัที่คล้ายๆกัน  อาจมีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามความเชื่อของท้องถิ่น

ประเพณีไหลเรือไฟเท่าที่จัดกันขึ้น  มีจังหวัดนครพนม  สกลนคร  เลย  หนองคาย  ศรีษะเกษ  มหาสารคาม  อุบลราชธานี  และในแขวงต่างๆของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ที่ตั้งอยู่ริมแมน้ำโขงและลำน้ำสาขา  เช่น  ที่หลวงพระบาง  เมืองดอนโขง  แขวงจำปาศักดิ์ ฯลฯ

1.ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท มีเรื่องปราปฏในอรรถกถาปุณโณวาทสูตรว่า  ในครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมในภพนาคก่อนเสด็จกลับภพโลก  พญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที  รอยพระบาทที่พระองค์ประทับไว้นี้  ต่อมาได้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของเหล่าเทวดา  มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  การไหลเรือไฟจึงเชื่อว่าทำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

2.ความเชื่อเกี่ยวกับวันพระเจ้าเปิดโลก การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาสู่เมืองมนุษย์  หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปประจำพรรษาเป็นปีที่  7  บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโปรดแก่พระพุทธมารดาเป็นการตอบแทนพระคุณมารดา  จนกระทั่งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน  ครั้นวันขึ้น 15  เดือน 11  ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา    พระองค์ก็เสด็จลงสู่เมืองมนุษย์  ทรงประทับยืนบนยอดเขาสิเนรุราชทำ โลกนิวรณ์  ปาฏิหาริย์ ทำให้สวรรค์  มนุษย์และนรก  ต่างมองเห็นกันและกัน  เรียกวันนี้ว่า  "วันพระเจ้าเปิดโลก" ในบางท้องถิ่นจะมีการทำปราสาทผึ้งร่วมกับการทำเรือไฟในวันนั้น

3.ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา นอกจากนั้นยังมีความเชื่อในการทำเรือไฟที่แตกต่างออกไปอีก  แต่กล่าวโดยรวมแล้วพิธีไหลเรือไฟนี้มักผูกพันและเกี่ยวข้องกับไฟแทบทั้งสิ้น  รวมทั้งประเพณีอื่นๆเช่น  งานแห่เทียนเข้าพรรษา   งานบุญบั้งไฟ  การจุดไต้ประทีป  สิ่งเหล่านี้อาจจะสอดคล้องกับความเชื่อของคนอีสานที่มีความเชื่อว่า

"ไฟจะช่วยเผาผลาญ  มลายความชั่วร้ายและขจัดปัดเป่าความทุกข์ยาก  ความทุกข์เข็ญให้หนีพ้นไป"

เฮือไฟ  แต่เก่าแต่ก่อน

การประกอบพิธีไหลเรือไฟ ชาวอีสานส่วนใหญ่จะจัดทำขึ้นในวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  11  รวมทั้งที่จังหวัดนครพนมด้วย  ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา  บางจังหวัดอาจจัดในวันแรม  1  ค่ำ เดือน  11  พิธีการดั้งเดิมนั้น  (ชุมชนเล็กๆยังมีการปฏิบัติกันอยู่)  พอใกล้จะถึงวันออกพรรษา  ภิกษุสามเณรของแต่ละคุ้มวัดจะบอกกล่าวชาวบ้านชวนกันมาจัดเตรียมทำเรือไฟล่วงหน้าก่อน  2-3  วัน  โดยจัดหาต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาง่ายๆในหมู่บ้านมาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่ายๆ  พอที่จะให้ลอยน้ำได้  แผงที่วางสิ่งของอาจทำด้วยการสานไม้ไผ่ส่วนที่ยกสูงขึ้นจากส่วนที่เป็นแพเล็กๆ  ความยาวของแพประมาณ  4 - 5  วา  เวลาเพลก็มีการถวายภัตตาหารเพล  และเลี้ยงบรรดาแรงงานชาวบ้านที่มาช่วยทำเรือไฟจนกระทั่งเรือไฟแล้วเสร็จ  ในวันนั้นมีการเล่นต่างๆ  เพื่อความสนุกสนานในช่วงบ่าย  พอค่ำสนธยาชาวบ้านจะทำขนมหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทานใส่ลงไปในเรือ  เวลาค่ำก็จุดไฟให้สว่าง โดยที่เชื้อไฟได้แก่ขี้ไต้ (ขี้กระบอง-ภาษาอีสาน)  โรยรอบเรือในกาบกล้วยที่แกะมาวางไว้ในเรือ  หรือบางแห่งใช้ขี้ไต้ที่เป็นมัดผูกติดกับโครงเรือแล้วจุดรายรอบลำเรือ  จากนั้นก็ผลักเรือให้ออกไปกลางน้ำล่องลอยไปเรื่อยๆแล้วแต่จะไปลอยติดฝั่งตรงไหน  ซึ่งหากมีผู้พบเห็นก็จะสามารถเก็บสิ่งขอที่พอจะใช้ได้นำไปใช้ต่อไป

การไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนม  มีการฟื้นฟูเพื่อจัดทำเป็นประเพณีในอีกรูปลักษณะหนึ่งตามกระแสของการส่งเสริมการท่องเที่ยว  เพื่อให้ถือเป็นงานระดับประเทศ  เป็นการพัฒนางานประเพณีให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน  เน้นรูปแบบเรือไฟเพื่อการนำเสนอที่สวยงาม  ทว่าก็ยังสืบทอดวิธีการดั้งเดิมไว้โดยมีการจัดทำเรือไฟแบบเก่าเป็นต้นแบบกระทำพิธีไหลก่อนที่จะตามมาด้วยเรือไฟที่เน้นความสวยงามของรูปร่างและรูปแบบดวงไฟ  เริ่มจากปี  2533 เป็นต้นมา  จังหวัดนครพนมได้ขอพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อัญเชิญมาจุดเรือไฟแบบดั้งเดิม  และจุดต่อไปยังเรือไฟลำอื่นๆ  ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลของการจัดงานประเพณีของจังหวัด  ซึ่งได้มีการปฏิบัติสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี

เรือไฟของจังหวัดนครพนม  ใช่ว่าจะมีแต่ความโอ่อ่า  งดงามตระการตาเพียงเท่านั้น  แต่คุณค่าและสิ่งที่แฝงปรัชญาทางศาสนาคือสิ่งที่ได้รับจาก  "ประเพณีไหลเรือไฟ"  ความเชื่อจากอานิสงส์ที่ได้รับร่วมทำบุญ  จิตใจที่ทำให้ใสสะอาดจากการฟังเทศน์  และสุดท้ายอุบายที่มีอยู่ในประเพณีคือ  กฏอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา