ประวัติความเป็นมาอำเภอธาตุพนม

อำเภอธาตุพนมมีประวัติความเป็นมาโดดเด่นแตกต่างจากอำเภอทั้งหลายในประเทศไทย ความโดดเด่นในด้านประวัติที่แตกต่างจากอำเภออื่นๆมีอย่างน้อย  3  ประการคือ

  1. แหล่งอันเป็นที่ตั้งของอำเภอธาตุพนมมีประวัติความเป็นมายาวนานถึง  2000  ปีเศษ  ก่อนตั้งเป็นอำเภอนับว่ายาวนานที่สุดกว่าอำเภอใดๆ
  2. ประวัติอันเป็นที่ตั้งของอำเภอธาตุพนมเป็นประวัติที่เป็นประวัติศาตร์ของอาณาจักรศรีโคตบูรที่เคยเจริญรุ่งเรืองในบริเวณแม่น้ำโขงตอนกลางและประวัติศาตร์ของเอชียตะวันออกเฉียงใต้
  3. เป็นประวัติที่เกี่ยวโยงกับพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์และการเผยแพร่ของพระพุทธศาสนาจากชมภูทวีปมายังสุวรรณภูมิ

เราจึงสามารถแยกกล่าวถึงประวัติอำเภอธาตุพนมได้  2  ส่วนคือ  ประวัติอาณาบริเวณของอำเภอธาตุพนมในสมัยโบราณ  และประวัติอำเภอธาตุพนมในสมัยปัจจุบัน
ประวัติอาณาบริเวณของอำเภอธาตุพนมในสมัยโบราณ จากตำนานอุรังคธาตุ  ตำนานพระธาตุพนม  เขียนโดยพระยาศรีไชยชมภู ข้าราชการแห่งสำนักพระราชวังลาว (เมื่อประมาณ  พ.ศ.  2181-2233)  ว่าบริเวณที่ตั้งองค์พระธาตุพนมเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูร มีเมืองหลวงชื่อ  ศรีโคตรบูร  ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณปากเซบ้องไฟ  เจ้าผู้ครองนครชื่อพระยาศรีโคตรบูร  ต่อมาเจ้าผู้ครองอาณาจักรศรีโคตรบูรองค์ที่  3  ได้ย้ายเมืองหลวงจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงเหนือที่ตั้งอำเภอธาตุพนมในปัจจุบัน  เนื่องจากเมืองเดิมเกิดโรคระบาด  พร้อมกันนั้นก็ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า  มรุกขนคร อาณาจักรศรีโคตรบูรในสมัยของพระยาสุมิตรธรรมวงศา  ราชาแห่งมรุกขนครมีความเจริญรุ่งเรืองมากทัดเทียมกับอาณาจักรเวียงจันทน์  โดยมีเส้นเขตแดนระหว่างกันที่ห้วยปากกะดิงและห้วยบางบาตร  ต่อมาอาณาจักรศรีโคตรบูรล่ม  เข้าใจว่าตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเวียงจันทน์ในสมัยของเจ้าฟ้างุ้มมหาราช  (พ.ศ. 1896-1915)  แล้วเรื่องราวของอา
ณาจักรศรีโคตรบูรก็สูญหายไป  แล้วปรากฏเมืองมรุกขนครใหม่ตั้งอยู่ที่พระบาทเวินปลาเหนือจังหวัดนครพนมในปัจจุบันเล็กน้อย

พ.ศ. 2233 - 2235  เจ้าราชครูโพนสะเม็กได้อพยพครอบครัวชาวเวียงจันทน์  3000  คน  มาบูรณะพระธาตุพนม  ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาวได้ต่อเติมยอดพระธาตุพนมให้สูงขึ้น  และเสด็จมานมัสการพระธาตุพนมในงานเทศกาลวันเพ็ญเดือน  3  พระองค์ได้มอบข้าราชบริพารเป็นข้าโอกาสรักษาพระธาตุพนมไว้บางส่วน  ที่เหลือได้นำไปนครจำปาศักดิ์

อาณาจักรศรีโคตรบูรยุคกลาง  เริ่มตั้งแต่  พ.ศ. 2254 - 2340  มีผู้ปกครองอาณาจักรนับได้  7  พระองค์  มีเหตุการณ์สำคัญคือมีการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างผู้ปกครองเมืองและมีสงครามระหว่างราชอาณาจักรไทย -  ลาว  ทำให้มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง  จนถึงอาณาจักรศรีโคตรบูรยุคสุดท้ายมีผู้ปกครองอาณาจักร  11  พระองค์  หลังจากนั้นผู้ปกครองเมืองล้วนแต่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น

ประวัติอำเภอธาตุพนมในปัจจุบัน ในช่วงปลายของอาณาจักรศรีโคตรบูร  เริ่มมีการแผ่ขยายของลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  ในปี  พ.ศ.  2440  ไทยเสียดินแดงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส  ทำให้อาณาจักรศรีโคตรบูรถูกแยกออกเป็นสองส่วน  สองประเทศ  ขณะนั้นพระยาพนมนครานุรักษ์ (ยศวิชัย)  ปกครองเมือง  ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปกครองราชอาณาจักรไทย  และพระองค์ได้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นแบบตะวันตก  มีการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑล  จังหวัด  อำเภอ   ตำบล  หมู่บ้าน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบ่งเป็น  2  มณฑลคือ  มณฑลลาวกาว  (อุบลราชธานี)  และมณฑลลาวพวน (อุดรธานี)  เมืองนครพนมเป็นหัวเมืองตรีอยู่ในสังกัดมณฑลลาวพวน  สำหรับบริเวณธาตุพนมซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเมืองหลวงอาณาจักรศรีโคตรบูร  เมื่อย้ายเมืองไปที่อื่น  บริเวณธาตุพนมจึงเป็นเพียงหมู่บ้านมีหน้าที่รักษาและบูรณะองค์พระธาตุพนมและขึ้นกับเมืองเรณูนคร

ในปลายปี  พ.ศ.  2449  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ได้เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลลาวพวน (อุดรธานี)  เมืองสกลนคร เมืองนครพนม  เมืองเรณูนคร  และได้มาพักค้างคืนที่บริเวณข้างวัดพระธาตุพนม  1  คืน  หลังจากเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯแล้ว  ในปี  พ.ศ. 2450 ได้มีการปรับปรุงการปกครองในมณฑลต่างๆ  โปรดให้ยุบเมืองเรณูนคร  เป็นตำบลเรณูนคร  และตั้งบ้านธาตุพนมขึ้นเป็นอำเภอธาตุพนม  โดยอาศัยพลับพลารับเสด็จเป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว  ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. บ้านธาตุพนมมีความเจริญกว่า  มีการคมนาคมสะดวกทั้งทางบก  ทางน้ำ  คือมีถนนชยางกูรตัดผ่านและแม่น้ำโขง  ให้ประโยชน์ในการทำมาหากินของราษฎร
  2. บ้านธาตุพนมเป็นสถานที่ตั้งปูชนียสถานที่สำคัญคือองค์พระธาตุพนม
  3. จะเป็นการลดปัญหาด้านชายแดนและปัญหาโจรผู้ร้ายได้ดี
  4. บ้านเรณูนครไม่เหมาะสม  และอยู่ในที่ลุ่มน้ำท่วมถึงและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

อำเภอธาตุพนมถ้านับจากวันที่ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบันก็หนึ่งร้อยปีเศษแล้ว