สรภัญญะหรือสารภัญญะเป็นทำนองสวดในพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง  เมื่อชาวบ้านเอามาร้องจึงจัดเป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง  นิยมร้องกันในเทศกาลออกพรรษา  โดยเฉพาะในงานทอดผ้าป่า  สังฆทาน  ในอดีตจะมีการฝึกร้องกันแทบทุกหมู่บ้าน   เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดในงานทอดถวายเทียนพรรษา  เราได้ประโยชน์จากการสวดสรภัญญะก็คือ  ชาวบ้านได้มีการพบปะร่วมกิจกรรมเป็นการเสริมสร้างความสามัคคี  ให้ความเพลิดเพลิน  ส่งเสริมวรรณกรรมอีสาน  ชาดกต่างๆในพุทธศาสนา  และโดยเฉพาะเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะอบรมสั่งสอนข้อธรรมะให้กับชาวบ้าน
          การร้องสรภัญญะจะเริ่มที่กลอนบูชาพระรัตนตรัย  กลอนแนะนำตัว  กลอนทักทายผู้ที่อยู่ในงาน  กลอนแสดงโวหาร  แสดงความรู้ความสามารถและความไพเราะ  และจะจบลงด้วยกลอนลา
                                          ตัวอย่างบทกลอนร้องสรภัญญะ

กลอนบูชาพระรัตนตรัย

                                        ข้าขอประนมกร            กราบวิงวอนรัตนา
                               ขอบูชาแก้วทั้งสาม                ที่ลือนามทั่วทิศา
                                        พุทโธผู้ตื่นแล้ว            รู้แนวทางที่ประเสริฐ
                               ล้ำเลิศทั่วแดนไกล                ฟูเฟื่องไกลในโลกา
                                       จะหาท่านองค์ใด          หญิงชายเท่าพุทโธ
                               มโนควรนอบน้อม                  พร้อมใจกันไหว้วันทา
                                       มโนน้อมคุณพระธรรม      ที่ควรจำคำสั่งสอน
                               เปรียบดังพรที่ล้ำค่า                ศาสดาจารึกไว้
                                      ทำให้ชาวประชา            ทั่วถ้วนหน้าอยู่สุข
                               อย่ามีภัยเบียดเบียน                เพราะคำเตือนของพุทโธ
                                      มโนควรนอบน้อม            พร้อมใจกันไหว้วันทา
                              ปรารถนาครั้งที่สอง                  คิดไตร่ตรองถึงคำสอน
                                     สังโฆคือพระสงฆ์              องค์สาวกศาสดา
                             ได้นำพาให้ท่านพ้น                    ความกังวลในหัวใจ
                                    กำหนดให้พ้นทุกข์              พ้นศัครูและอบาย
                             ได้บรรยายให้ธรรมะ                   ให้สละถึงกิเลส
                                    ด้วยเหตุที่พระสงฆ์              มีบุญญาน่าเลื่อมใส
                             ทุกท่านโปรดจำไว้                    ควรน้อมใจทุกท่านเทอญฯ
กลอนทักทาย
                                     พวกเราแสนดีใจ                พบกันใหม่ในวันนี้
                              ยอกรสวัสดี                            เพื่อนนารีอยู่ที่ใด
                                    โชคดีได้เจอกัน                 มาประชันในวาที
                               คงสุขทุกข์บ่มี                        คงสุขีทุกวี่วัน
กลอนไหว้ครู
                                     ข้าขอกราบไหว้คุณ            อันไพบูลย์พระอาจารย์
                               กรุณาทุกประการ                     พระอาจารย์ท่านสั่งสอน
                                      ยังไม่รู้สอนให้รู้                 คุณของครูอุตส่าห์สอน
                                ความรู้ที่ควรสอน                     ท่านก็สอนให้ชัดเจน
                                      วิชาความรู้แจ้ง                 ครูชี้แจงให้แลเห็น 
                                รักใคร่ไม่เอียงเอน                    หวังให้เป็นฉลาดคม
                                       ดีชั่วสอนเป็นนิตย์              สอนลูกศิษย์ให้ดีงาม
                                 รู้แจ้งปัญญาคม                      ให้ชื่นชมมนัสสา
                                       เดือนมืดไม่รู้ธรรม              เหมือนเจ้าต่ำเที่ยวคลำหา
                                 ความมืดเหมือนหลับตา              สอนวิชาให้เห็นจริง
                                        สอนโง่ให้ฉลาด                สอนนักปราชญ์ให้รู้จริง
                                  อาจารย์ท่านสอนยิ่ง                 ให้รู้จริงปัญญาญาณ
การขับร้องสารภัญญ์ถือเป็นการบูชาพระรัตนตรัยในพุทธศาสนา  การร้องมีหลายทำนองเช่น  ทำนองโศก  กาเต้นก้อน  ลมเชยผา    ทำนองลูกลมพัดพร้าว ฉันทลักษณ์ของสรภัญญะปกติแล้วจะเป็นกลอน 11  หน้า 5  คำ  หลัง 6  คำ  ปัจจุบันยังมีการส่งเสริมโดยจัดประกวดในระดับต่างๆ  เป็นการอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสามัคคี  ซาบซึ้งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ  นอกจากนั้นยังส่งเสริมการประพฤติดีประพฤติชอบตามหลักธรรมของพุทธศาสนา  เราควรอนุรักษ์และส่งเสริมให้คงอยู่คู่สังคมบ้านเราต่อไป

ความหมายบาศรีสูตรขวัญ

บาศรีสูตรขวัญเป็นประเพณีดั้งเดิมเก่าแก่ที่นิยมกระทำสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  ถือว่าเมื่อจัดพธีนี้แล้วจะเป็นมงคลแก่ชีวิต  เป็นสิริมงคลเป็นกำลังใจในการที่ประกอบคุณงามความดีต่อไป  และให้มีความสุขความเจริญในชีวิต

แต่เดิมนั้นบาศรีสูตรขวัญเป็นพิธีที่จัดซึ่งเจ้านายผู้ใหญ่ทำกัน  จึงเรียกว่า บาศรี เพราะคำว่า  บา ได้แก่เจ้าขุนมูลนาย  เช่นเจ้านายมักเรียกว่า  บาคาน,บาท้าว,บาบ่าวท้าว  เป็นต้น  ศัพท์คำว่า  บาศรี  คือการทำสิริให้กับชนผู้ดี  เพราะฉะนั้นคำว่า  บาศรี  จึงเป็นศัพท์ดั้งเดิมเก่าแก่จริงๆที่นิยมเรียกกันมาตั้งแต่โบราณกาล

สูตร เป็นคำเก่าแก่ของคนอีสาน  ที่นิยมเรียกการสวดว่า "สูตร"  เช่นสวดมนต์อีสานเรียก  "สูตรมนต์"  พิธีสวดเหมือนสวดมนต์เช่น  สวดขวัญ  จึงเรียก  "สูตรขวัญ" บาศรีสูตรขวัญเป็นพิธีของพราหมณ์  บรรพบุรุษของเรานับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์  แต่ก็ถือจุดมุ่งหมายเดียวกัน  คือ  ทำเพื่อให้มีกำลังใจดีขึ้น  หรือทำไปในทางที่ดีขึ้น

ขวัญ พวกเราถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน  เห็นหรือจับต้องไม่ได้  เชื่อว่าคล้ายจิตวิญญาณ  ซึ่งแฝงอยู่ในตัวตนของคนและสัตว์ตั้งแต่เกิดมา  และจะต้องอยู่ประจำตัวตนตลอดเวลา  ตกใจ  เสียใจ  ป่วยไข้  ขวัญจะหนี  อาจทำให้กับถึงตายได้  ฉะนั้นต้องเรียกขวัญ  สูตรขวัญเพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่กับตน  จะได้สุขสบาย  ในบางแห่งมักแปลว่ากำลังใจ  และยังหมายความว่า "เป็นที่รักที่บูชา"  เช่นเรียกลูกที่รักว่า  "ลูกขวัญ"  เรียกเมียที่รักว่า  "เมียขวัญ"  สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือนำมาฝากนำมามอบให้เพื่อเป็นการแสดงความมีน้ำใจต่อกันนิยมเรียกว่า  "ของขวัญ"

พิธีบาศรีสูตรขวัญของชาวอีสานที่นิยมกระทำอยู่จนทุกวันนี้  มีทำกันอยู่  2  พิธีคือ  พิธีทางพุทธศานา  และพิธีทางศาสนาพราหมณ์

พิธีทางพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย  5  รูป  มาเจริญพระพุทธมนต์  ตั้งบาตรน้ำมนต์  พาขวัญ  เสร็จแล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์  พระสงฆ์สวดไชยมงคลคาถา  ในพิธีถ้ามีศรัทธามากจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพลด้วยก็ได้  แล้วนำฝ้ายผูกแขนมาผูกให้เจ้าของขวัญก็เป็นเสร็จพิธี

พิธีทางศาสนาพราหมณ์ จะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และพิธีการหลายอย่าง  ดังนี้

พาขวัญหรือพาบายศรี

การจัดพาขวัญนี้  ปกติจะต้องจัดด้วยพานทองเหลืองหรือขันสัมฤทธิ์(โอลงหิน)  หลายๆใบซ้อนกันให้สูงขึ้นไป  มีใบตองสด  ดอกไม้  ผลไม้  ฝ้ายผูกแขน(ข้อมือ)  พาขวัญนี้นิยมจัดเป็น 3-5-7  ชั้น  แล้วแต่ความสามารถของผู้จัด  แต่มีความเชื่อเป็นธรรมเนียมว่า  3-5  ชั้นเป็นพาขวัญสำหรับคนธรรมดาสามัญ  ส่วน  7-9  ชั้นสำหรับเชื้อพระวงศ์และพระมหากษัตริย์  ชั้นต่างๆของพาน  จะมีใบศรี  (ทำด้วยใบตองกล้วยสด)  มีดอกไม้  ใบไม้  ข้าวต้มมัด  ขนม  กล้วย  อ้อย  ปั้นข้าวเหนียว  มีดด้ามแก้ว  มีดด้ามคำ  (แข่วคำ)  ชั้นที่  2-3  และ  4  จะแต่งด้วยใบศรีและดอกไม้ ซึ่งมักจะเป็นดอกผาง  ดอกดาวเรือง  ดอกรัก  ใบเงิน  ใบทอง  ใบนาก  ใบคูณ  ใบยอป่า  อย่างสวยงาม  ส่วนชั้นที่  5  จะมีใบศรีและฝ้ายผูกแขน

นอกจากนี้จะมีเครื่องบูชาอื่นๆอีก  เช่น  ขัน 5  พาข้าว  1  สำรับ  เหล้า  1  ขวด  พานขนาดกลางสำหรับวางผ้า  1  ผืน  แพร  1  วา  หวี  แว่น (กระจกเงา)  น้ำอบ  น้ำหอม  สร้อยแหวนของเจ้าของขวัญ  สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ  เทียนเวียนหัว  (เป็นเทียนที่ทำจากขี้ผึ้งแท้ที่ได้จากรังผึ้ง)  มีความยาวขนาดวัดรอบศีรษะของเจ้าของขวัญ

ถ้าเป็นงานแต่งงานนิยมเอาเทียนเวียนหัวของเจ้าบ่าว  เจ้าสาว  มาฝั้นให้เป็นเทียนเล่มเดียวกัน  ซึ่งเปรียบเสมือนใจสองดวงมารวมกันเป็นใจดวงเดียวกัน  เอามาวางไว้ในพาขวัญเพื่อให้พราหมณ์จะได้จุดเทียนนี้บูชาก่อนเริ่มพิธี

ถ้าเป็นพาขวัญในงานกินดอง (แต่งงาน)  คนจัดพาขวัญจะต้องเป็นคนบริสุทธิ์ (ปลอด)  คือเป็นคนดี  เป็นผัวเดียวเมียเดียว  ไม่เคยหย่าร้าง  ถ้าจัดไม่เป็นเพียงมาจับให้เป็นพิธีแล้วให้คนอื่นจัดต่อไปจนเสร็จ  ต้องจัดทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิง  พาขวัญฝ่ายชายต้องให้หญิงบริสุทธิ์  (เด็กหญิงที่ไม่เคยมีรอบเดือน)  หามด้วยไม้ทอหูก (ไม้กำผั้น)  โดยใช้ด้ายขดโตๆถักเป็นหูสำหรับหาม  เหตุที่ใช้ไม้หูก  เพราะถือเคล็ดเอาความสามัคคีรักใคร่ของไม้และผ้า

พาขวัญต้องมีอาหารคาวหวานเป็นส่วนประกอบด้วย  เมื่อแต่งพาขวัญเสร็จแล้วต้องนำไปวางในที่เหมาะสมก่อน  ต้องวางให้ดี  อย่าให้ล้มได้  (คนโบราณถือนักถือหนาห้ามทำให้พาขวัญล้มเด็ดขาด  เพราะถ้าล้มจะเป็นเหตุบอกลางร้ายต่อเจ้าของขวัญ)   เมื่อได้เวลาสูตรขวัญเมื่อจะเริ่มพิธีให้ยกไปตั้งท่ามกลางญาติมิตร  บนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ

ข้างๆพาขวัญนอกจากมีอุปกรณ์ต่างๆดังกล่าวแล้วยังต้องมีแก้วน้ำหรือขันน้ำใส่ด้วยฝักส้มป่อย (กระถินป่า)  หรือว่านหอมและแก้วใส่เหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่มหรือพ่นหรือใช้ดอกไม้  ใบไม้จุ่มสลัดใส่พาขวัญก่อนจะผูกแขนหลังสูตรขวัญแล้ว  พิธีสลัดน้ำนี้เรียกว่าบทมิดฟาย

ฝ้ายสำหรับผู้แขน (ผูกข้อมือ)

ฝ้ายที่จะนำมาประกอบในพิธีต้องเป็นฝ้ายดิบ  นำมาจับเป็นวง  วงละ  3  เส้น  ถ้าทำให้ผู้มีศักดิ์มีตระกูลใช้  5  เส้น  (อาญา 5  ขี้ข้า  3 )  เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือตัดให้ขาดเป็นเส้น (ห้ามใช้มีดตัด)  จะใช้มีดตัดได้เฉพาะผูกศพแล้วเท่านั้น  ด้ายผูกแขนนี้ทำให้เพียงพอสำหรับผู้ที่จะมาในงาน  เมื่อทำมากเพียงพอแล้วผูกไว้กับก้านมะพร้าวที่เหลาเรียบร้อย  แล้วเอาไปปักตามใบศรีในพาขวัญ

การสวดหรือการสูตรขวัญ

เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก  คนอีสานประกอบพิธีบาศรีสูตรขวัญทุกงาน  เช่น

  • เด็กอ่อน  แม่ออกกรรม (ออกไฟ)
  • บวช
  • แต่งงาน
  • ขึ้นบ้านใหม่
  • ค้าขายร่ำรวย
  • ได้เลื่อนยศ  เลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนใหม่
  • ป่วย
  • สูตรขวัญข้าว  วัว  ควาย
  • สูตรขวัญพระเถระ
  • เชื้อพระวงศ์
  • พระมหากษัตริย์

การจะประกอบพิธีเจ้าภาพต้องจัดหา  เชิญพราหมณ์  (หมอสูตรขวัญ)  ไว้ล่วงหน้า  ปกติพราหมณ์จะเป็นผู้ทราบพิธีสูตรขวัญ  เป็นผู้ที่ชาวบ้านนับถือในหมู่บ้านนั้นๆ  พราหมณ์สูตรขวัญเมื่อก่อนนุ่งห่มธรรมดา  เพียงแต่มีผ้าขา วหรือผ้าขาวม้าพาดบ่าก็พอ  ปัจจุบันหมอสูตรขวัญหรือพราหมณ์จะนุ่งขาวห่มขาว  ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน

ก่อนพราหมณ์จะทำการสูตรขวัญเจ้าภาพต้องเตรียมฝ้ายผูกแขน(ข้อมือ)พราหมณ์ไว้  ซึ่งเป็นฝ้ายดิบธรรมดา  และยังเป็นธรรมเนียมต้องผูกธนบัตรกับด้ายผูกแขนพราหมณ์  ถือว่าเป็นการบูชาครู  จำนวนธนบัตรนั้นจะมากน้อยตามแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร  เจ้าภาพเป็นผู้ผูกข้อมือพราหมณ์ด้วยด้ายผูกข้อมือนี้

พราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งหันหน้าไปทางทิศใดก็ได้ตามที่พราหมณ์เห็นว่าเหมาะสม  เจ้าของขวัญนั่งลงแล้วยกมือไหว้พราหมณ์  เสร็จแล้วใช้มือขวาจับพาขวัญ  ตั้งจิตอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนนับถือบันดาลให้เป็นไปตามที่พราหมณ์สูตร  พวกญาติมิตรจะนั่งเป็นวง  ล้อมทางด้านหลัง  พราหมณ์จะจุดเทียนเวียนหัวของเจ้าของขวัญแล้วจุดธูป  กราบพระพุทธรูป  กราบพระสงฆ์(ถ้ามี)  และไหว้พระ  กล่าวว่า

นโมตัสสะ  ภควะโต  อรหะโต  สัมมา  สัมพุทธัสสะ ( 3 หน)  แล้วกล่าวคำอัญเชิญเทวดา  ดังนี้

สัคเค  กาเม จ  รูเป  คิริสิขรัตเต  จันตลิเข  วิมาเน.  ทิเป  รัฐเฐ  จ  คาเม,  ตรุวน  คหเน  เคห  วัตถุมหิ  เขตเต,  ภุมมา  จา  ยันตุ  เทวา  ชลถลวิสเม  ยักข  คันธัพ  นาคา  คิฏฐันตา  สันติเก  ยัง  มุนิวรวจนัง  สาธโวเม  สุนันตุ,  ธัมมัสสวนกาโล  อยัมทันตา  (ว่า  3  หน)

เสร็จแล้วผู้เป็นพราหมณ์ก็สูตรขวัญ  โดยเลือกเอาบทสูตรที่เหมาะสมกับงานการสูตรนั้นๆ  การสูตรต้องสูตรให้เสียงดังฟังชัดเจน  สละสลวย  ไพเราะ  ฟังแล้วเกิดความดีใจ  เกิดศรัทธาปสาทะอุตสาหะในการที่กระทำความดียิ่งขึ้น

คำเชิญขวัญ

ศรีๆ  สิทธิพระพร  บวรดิเรก  อเนกเตโช  ไชยะมังคะละ  มหาสิริมังคะเรศ  ศาสตรเทพพร้อมอาคม  ขุนบูฮูมปุนแปงไว้แล้ว  ให้ลูกแก้วออกกินเมือง  ฤทธีเฮืองทะรงแท่น  มื้อนี้แม่นมหาคุณ  ขุนแกนดาแต่งแล้ว  ให้ลูกแก้วกิ่งลงมา  เป็นราชาสืบสร้าง เมืองมิ่งกว้างนาครอง  วันนี้ปองเป็นโชค  ไตรโลกเจ้าย่อมลือชา  ทะรงอินทานุภาพยิ่ง  เป็นเจ้าจอมมิ่งเมืองแมน  ทะรงแท่น  ถนัดล้ำมื้อนี้ค้ำคูณคง  พญาจักรทะรงทศราช  พรหมนาถเล่าแถมพร  พระอิศวรหลอนแถมโชค  พระนารายณ์โยคสิทธิชัย  ท้าวสหีสนัยประกาศฝนห่าแก้ว  ใจผ่องแผ้วบริสุทธิ์  อุตตะมะโชค  อุตตะมะโยค  อุตตะมะดิถี  อุตตะมะนาที  อุตตะมะศรีพิลาศ  อินทะพาสพร้อมไตรยางค์  ทั้งนะวางคาดคู่พร้อมกันอยู่สอนลอน  อาทิตย์จรจันทะฤกษ์  อังคารถืกมหาชัย  พุธพหัสไปเป็นโชค  ศุกร์เสาร์โยคเดชมุงคุล  อันเป็นผลหลายประโยค  อุตตะมะโชคแก้อีหลี  มเหศักขีหลิงล่ำโลก  ให้หายทุกข์โศกนานา  พระอภัยราชาขึ้นทะรงแท่น  หายโภยภัยแม่นวันดี  กัณหาชาลีเมือฮอดเมืองปู่  สถิตย์อยู่เย็นใจ  ท้าวศรีสญชัยภูวนาถ นิรมนต์ราชบุตรตา  ให้เป็นราชาคืนดังเก่า  เป็นเจ้าเล่าสองที  วันนี้เป็นดิถีทั้งห้า  เจ้าฟ้าเล่าแถมคุณ  พรหมมะปุนปองราช  พรแก้วอาจสิบประการ  วรสารโตองอาจ  ขึ้นสู่ราชเล็งโญ

วันนี้โพธิญาณหน่อฟ้า  เดชะกล้าถวายเมือง  พระบุญเฮืองคุ้มครองไพร่  ทศราชไต่ตามธรรมจำนำสัตว์ให้พ้น  วันนี้ดีลื่นล้นประมาณ  หุละมานใจผ่องแผ้ว  นิรมิตรผาสาทแก้วก่อแปงเมือง  นาคเฮืองทศราช  เซียงเคืออาจขุนเม็ง  เงินยวงเงเนาว์เนืองคับคั่ง  สะพั่งพร้อมหมู่เสนา  เทวดามาเป็นบริวารแวดล้อม  มาอยู่อ้อมทุกหมู่โยธา  ทั้งนาคานาคีครุฑนาค  ทุกภาพพร้อมธรณี  เมกขลาศรีสาวท่าว  เซื้อท่อนท้าวบรเมศวร  บรบวรฤทธิเก่งกล้า  เอาแผ่ฟ้าขี่ต่างยาน  กุมภะกัณฑ์นาลยมราช  จตุโลกอาจองหลวง  ทั้งคว่างบนบูฮมเจ้าฟ้า  เดชะกล้ากว่าสิ่งทั้งหลาย  จึงยายยังพระพรและคว่างจุ้ม  ลงมาตุ้มแดนด้าวขอกคินี  พระรัสสีสิทธิเดช  จบเพศพร้อมอาคม  นิยมประสิทธิ์ประสาทพรแก้วอาจดวงดี  มื้อนี้แม่นมื้อสรรพ์  วันนี้แม่นวันชอบ  ทั้งประกอบด้วยฤกษ์งามยามดี  เป็นศรีสิทธิไชยะมุงคุลดิเรก  อเนกแท้สวัสดีแท้อีหลี

บัดนี้  ฝูงข้าน้อย  ใจซื้นซ้อยยินสออน  ขอโอมอ่านอวยพรแก่.............ผู้ทะรงคุณคามมาก  ข้าน้อยหากขอวอน  คุณอนุสรณ์สามสิ่ง  คือพระรัตนตรัยแก้วสิ่งดวงดี  กับทั้งคุณประเสริฐศรีทุกแห่ง  ทุกแหล่งหล้าสรวงสวรรค์  จงมาเสกสรรค์เป็นพระพร  คืออายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  อโรคยา  ปะฏิภานะ  อะธิปะติ  คุณสารสมบัติทุกเรื่อง  ขอเดชานุภาพกระเดื่องทุกกรณี  ดังแสงสุรีย์ส่องสว่างโลก  หายทุกข์โศกสวัสดี  ชะยะตุ  ภะวัง  ชะยะมังคะลัง  จงเป็นไชยะมุงคุลอันแวนยิ่ง  ถ้วนทุกสิ่งบริบูรณ์  นั้นเทอญ

 

ปัจจุบันสภาพทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้โลกเป็นยุคไร้พรหมแดน  วัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามาอย่างมากมาย  ทำให้เกิดปัญหาเยาวชนหลงลืมและไม่รู้จักศิลปะ  วัฒนธรรม  ขบธรรมเนียมประเพณีของตนเองซึ่งบรรรพบุรุษเคยรักษาเอกภาพของตนเองมาเป็นเวลาช้านาน  จึงอยากนำเสนอเรื่อง  "หมอดู"  ซึ่งถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งซึ่งชาวอีสานถือปฏิบัติมา  หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ  แต่ก็ถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมสงบสุข  บุคคลในสังคมเกิดความสบายใจ  เมื่อได้ปฏิบัติ  และเราคงไม่ปฏิเสธว่าในปัจจุบัน  ส่วนหนึ่งของคนไทยก็ยังเชื่อในหมอดู

หมอดูอีสาน (จากใบลานก้อม)

สรรพตำราใช้ประจำบ้านเฮือน  ใช้จารลงบนใบลานสั้นๆเก็บไว้ประจำตัว  เพื่อสะดวกแก่การค้นโดยเฉพาะนั้น  ภาษาอีสานเรียกว่า  "หนังสือก้อม"  เมื่อจะทำการใดๆเพื่อเป็นมงคลในบ้านเรือน  จะเลือกหามื้อวันทันยามอันดีเป็นต้น  ก็จะตรวจค้นในหนังสือก้อมอันเก็บไว้นั้น  ให้เป็นการถี่ถ้วนก่อนลงมือทำ  เพื่อความเป็นอุดมมงคลสวัสดีในบ้านเรือน  คำว่ามื้อและวันนั้น  นักปราชญ์เก่าได้จารลงในหนังสือก้อมนั้นมีความหมายต่างกันคือ  มื้อส่วนมากหมายเอาทางจันทรคติขึ้นแรม  เช่นมื้อ  1 - 2  ค่ำ  เป็นต้น  ส่วนวันนั้นหมายเอาทางสุริยคติ  เช่น  อาทิตย์  จันทร์  อังคาร  พุธ พฤหัส  ศุกร์  เสาร์  เป็นต้น   ในตำราหมอดูมื้อ  วัน  ที่กล่าวไว้ในหนังสือก้อมจัดเป็น  โคงยาม  โคงวัน  โคงเดือน  เช่นโคงวันจม  วันฟู  เป็นต้น  เรียกว่า  "โคง"

โคงช้างแก้ว

1  ค่ำ ช้างแก้ว ขึ้นสู่โฮงคำ
2 ค่ำ ผีฟัง ธรรมป่าช้า
3 ค่ำ ล้างมือ ถ้าคองกิน
4 ค่ำ นอน ป่วยตีนตากแดด
5 ค่ำ ผีแวดล้อม ระวังเอา
6 ค่ำ ลงสะเภา ไปเที่ยวค้า
7 ค่ำ เคราะห์อยู่ ถ้าเถิงตน
8 ค่ำ มีคำ กังวลบ่แล้ว
9 ค่ำ ถืกเสี้ยน พญาราม
10 ค่ำ หาความงาม บ่ได้
11 ค่ำ ขี้ไฮ้ เกิดเป็นดี
12 ค่ำ บ่ดี สักหยาด
13 ค่ำ ไชยะ ผาบแพ้ชมภู
14 ค่ำ ฝูงศัตรู ปองฆ่า
15 ค่ำ ถืก แม่วายหลวง

อันโคงช้างแก้วนี้  จะทำการมงคลใดๆก็ดี  จะไปค้าขายทางไกลก็ดี  ให้เลือกเอาวันมื้อดี  คือ  ดิถี 1-6-10-11-13  เมื่อถูกวันดีจักสมปรารถนาแล

โคงชาตาเดือนเกิด

เกิดเดือนเจียง เมียหนุ่มน้อย แล่นมาโฮม
เกิดเดือนยี่ ผมหัวหยอง  ถามเอาหนี้ 
เกิดเดือน  3  เพื่อนซี้เวียก  ให้ทำการ
เกิดเดือน  4  ความกล้าหาญ  บ่มีย้านบาป
เกิดเดือน  5  ตายหย้อน  ดาบชาวเมือง
เกิดเดือน  6  ขันคำ  ขึ้นตั่งแท่น
เกิดเดือน  7  ไซ้บ่แล่น  ขุนปง
เกิดเดือน  8  ถือคานงง  พายถงกับดาบ
เกิดเดือน  9  ฮู้เพื่อนก็ถาม  บ่ฮู้เพื่อนก็ถาม
เกิดเดือน  10  คำปรารถนา  บ่แล้ว
เกิดเดือน  11  ป่าแป้ว  คอบคานสี
เกิดเดือน  12  ตีกลองหลวง  ป่าวเมืองกินเหล้า

เกณฑ์ยาม

ยามอาทิตย์ เกณฑ์  15
ยามจันทร์ เกณฑ์  14
ยามอังคาร เกณฑ์  13
ยามพุธ เกณฑ์ 12
ยามพฤหัส เกณฑ์  11
ยามศุกร์ เกณฑ์  10
ยามเสาร์ เกณฑ์  9

ยามทำมงคล

เมื่อจะทำมงคลในวันใด  ให้ตรวจดูยามก่อน  คือให้ตั้งเกณฑ์วันนั้นลง  เอา  13  บวก  9  หาร  ได้เศษเท่าใดให้ทายตามเศษดังนี้

เศษ  1 จะมีลาภสิ่งที่ประสงค์จงใจรัก
เศษ  2-3 จะเกิดเคราะห์อาจเถิงมรณะแล
เศษ  4-5 เลือดจะตกยางจะออกให้ระวัง
เศษ 6 จะอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดีมีลาภแล
เศษ  0 สูญร้ายนัก  มักเกิดถ้อยความ  จะมีทุกข์ร้อนมาถึง  อย่าทำแท้แล

ประเพณีไหลเรือไฟ

ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมประเพณีส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน  ถึงจะแตกต่างกันออกไปบ้างในบางท้องถิ่นก็เป็นส่วนน้อย  ประเพณีที่ยึดถือเป็นส่วนใหญ่นั้นก็คือ  ฮีตสิบสอง  หรือประเพณีสิบสองเดือน  นั่นเอง  ฮีต เป็นคำพื้นเมืองอีสานหมายถึง  ประเพณีอันเนื่องด้วยศีลธรรม  ส่วนรวมถือว่ามีค่าแก่สังคม  ใครประพฤติฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่กระทำตามที่กำหนดถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว  ฮีตสิงสองของขาวอีสานเป็นเรื่องความเชื่อในพระพุทธศาสนาและประเพณีนิยมพื้นบ้าน  จุดประสงค์เพื่อให้สมาชิกในสังคมได้มีโอกาสร่วมทำบุญเป็นประจำทุกๆเดือนในรอบปี  รวมทั้งเป็นจารีตบังคับให้ทุกคนเสียสละทำงานร่วมกัน  ประเพณีแรกของฮีตสิงสองจะเริ่มเดือนเจียงหรือเดือนอ้าย  ถึงเดือนสิบสองซึ่งเป็นเดือนสุดท้าย  เป็นช่วงของการทำบุญกฐิน

ประเพณีไหลเรือไฟถือเป็นฮีตย่อยปฏิบัติกันในหมู่บ้านหรือบางจังหวัด  อยู่ในเดือนสิบเอ็ดซึ่งเป็นช่วงของงานบุญออกพรรษา  ไหลเรือไฟถือเป็นกิจกรรมประเพณีของช่วงเดือนนี้  ซึ่งมีกิจกรรมประเพณีอื่นประกอบ  คือ  งานแข่งเรือ  งานแห่ปราสาทผึ่ง  และจุดไต้ประทีป

ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีที่ชาวอีสานบางส่วนที่อาศัยอยู่ไกล้แม่น้ำยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว  เดิมชาวบ้านเรียกประเพณีนี้หลายชื่อ  คือ  ลอยเฮือไฟ  ลอยเรือไฟ  แต่ปัจจุบันยอมรับและนิยมเรียกว่า  ไหลเฮือไฟ  หรือไหลเรือไฟ

 

คติและความเชื่อ

ไหลเรือไฟ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาตามคติ  ไม่ปรากฏหลักฐานว่าถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่เมื่อใด  เข้าใจว่าพิธีกรรมที่ยึดถือกันมาเป็นประเพณีนี้จะจัดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นในบางจังหวัดที่มีชัยภูมิที่เหมาะสมคือ  มีแม่น้ำหรือลำน้ำ  เท่าที่ปรากฏจะมีแนวทางปฏิบัที่คล้ายๆกัน  อาจมีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามความเชื่อของท้องถิ่น

ประเพณีไหลเรือไฟเท่าที่จัดกันขึ้น  มีจังหวัดนครพนม  สกลนคร  เลย  หนองคาย  ศรีษะเกษ  มหาสารคาม  อุบลราชธานี  และในแขวงต่างๆของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ที่ตั้งอยู่ริมแมน้ำโขงและลำน้ำสาขา  เช่น  ที่หลวงพระบาง  เมืองดอนโขง  แขวงจำปาศักดิ์ ฯลฯ

1.ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาท มีเรื่องปราปฏในอรรถกถาปุณโณวาทสูตรว่า  ในครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมในภพนาคก่อนเสด็จกลับภพโลก  พญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที  รอยพระบาทที่พระองค์ประทับไว้นี้  ต่อมาได้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาของเหล่าเทวดา  มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย  การไหลเรือไฟจึงเชื่อว่าทำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

2.ความเชื่อเกี่ยวกับวันพระเจ้าเปิดโลก การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกลงมาสู่เมืองมนุษย์  หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปประจำพรรษาเป็นปีที่  7  บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  และทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโปรดแก่พระพุทธมารดาเป็นการตอบแทนพระคุณมารดา  จนกระทั่งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน  ครั้นวันขึ้น 15  เดือน 11  ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา    พระองค์ก็เสด็จลงสู่เมืองมนุษย์  ทรงประทับยืนบนยอดเขาสิเนรุราชทำ โลกนิวรณ์  ปาฏิหาริย์ ทำให้สวรรค์  มนุษย์และนรก  ต่างมองเห็นกันและกัน  เรียกวันนี้ว่า  "วันพระเจ้าเปิดโลก" ในบางท้องถิ่นจะมีการทำปราสาทผึ้งร่วมกับการทำเรือไฟในวันนั้น

3.ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา นอกจากนั้นยังมีความเชื่อในการทำเรือไฟที่แตกต่างออกไปอีก  แต่กล่าวโดยรวมแล้วพิธีไหลเรือไฟนี้มักผูกพันและเกี่ยวข้องกับไฟแทบทั้งสิ้น  รวมทั้งประเพณีอื่นๆเช่น  งานแห่เทียนเข้าพรรษา   งานบุญบั้งไฟ  การจุดไต้ประทีป  สิ่งเหล่านี้อาจจะสอดคล้องกับความเชื่อของคนอีสานที่มีความเชื่อว่า

"ไฟจะช่วยเผาผลาญ  มลายความชั่วร้ายและขจัดปัดเป่าความทุกข์ยาก  ความทุกข์เข็ญให้หนีพ้นไป"

เฮือไฟ  แต่เก่าแต่ก่อน

การประกอบพิธีไหลเรือไฟ ชาวอีสานส่วนใหญ่จะจัดทำขึ้นในวันขึ้น  15  ค่ำ  เดือน  11  รวมทั้งที่จังหวัดนครพนมด้วย  ซึ่งเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา  บางจังหวัดอาจจัดในวันแรม  1  ค่ำ เดือน  11  พิธีการดั้งเดิมนั้น  (ชุมชนเล็กๆยังมีการปฏิบัติกันอยู่)  พอใกล้จะถึงวันออกพรรษา  ภิกษุสามเณรของแต่ละคุ้มวัดจะบอกกล่าวชาวบ้านชวนกันมาจัดเตรียมทำเรือไฟล่วงหน้าก่อน  2-3  วัน  โดยจัดหาต้นกล้วยและลำไม้ไผ่ที่หาง่ายๆในหมู่บ้านมาจัดทำเป็นโครงเรือไฟง่ายๆ  พอที่จะให้ลอยน้ำได้  แผงที่วางสิ่งของอาจทำด้วยการสานไม้ไผ่ส่วนที่ยกสูงขึ้นจากส่วนที่เป็นแพเล็กๆ  ความยาวของแพประมาณ  4 - 5  วา  เวลาเพลก็มีการถวายภัตตาหารเพล  และเลี้ยงบรรดาแรงงานชาวบ้านที่มาช่วยทำเรือไฟจนกระทั่งเรือไฟแล้วเสร็จ  ในวันนั้นมีการเล่นต่างๆ  เพื่อความสนุกสนานในช่วงบ่าย  พอค่ำสนธยาชาวบ้านจะทำขนมหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทานใส่ลงไปในเรือ  เวลาค่ำก็จุดไฟให้สว่าง โดยที่เชื้อไฟได้แก่ขี้ไต้ (ขี้กระบอง-ภาษาอีสาน)  โรยรอบเรือในกาบกล้วยที่แกะมาวางไว้ในเรือ  หรือบางแห่งใช้ขี้ไต้ที่เป็นมัดผูกติดกับโครงเรือแล้วจุดรายรอบลำเรือ  จากนั้นก็ผลักเรือให้ออกไปกลางน้ำล่องลอยไปเรื่อยๆแล้วแต่จะไปลอยติดฝั่งตรงไหน  ซึ่งหากมีผู้พบเห็นก็จะสามารถเก็บสิ่งขอที่พอจะใช้ได้นำไปใช้ต่อไป

การไหลเรือไฟที่จังหวัดนครพนม  มีการฟื้นฟูเพื่อจัดทำเป็นประเพณีในอีกรูปลักษณะหนึ่งตามกระแสของการส่งเสริมการท่องเที่ยว  เพื่อให้ถือเป็นงานระดับประเทศ  เป็นการพัฒนางานประเพณีให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน  เน้นรูปแบบเรือไฟเพื่อการนำเสนอที่สวยงาม  ทว่าก็ยังสืบทอดวิธีการดั้งเดิมไว้โดยมีการจัดทำเรือไฟแบบเก่าเป็นต้นแบบกระทำพิธีไหลก่อนที่จะตามมาด้วยเรือไฟที่เน้นความสวยงามของรูปร่างและรูปแบบดวงไฟ  เริ่มจากปี  2533 เป็นต้นมา  จังหวัดนครพนมได้ขอพระราชทานไฟพระฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อัญเชิญมาจุดเรือไฟแบบดั้งเดิม  และจุดต่อไปยังเรือไฟลำอื่นๆ  ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลของการจัดงานประเพณีของจังหวัด  ซึ่งได้มีการปฏิบัติสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี

เรือไฟของจังหวัดนครพนม  ใช่ว่าจะมีแต่ความโอ่อ่า  งดงามตระการตาเพียงเท่านั้น  แต่คุณค่าและสิ่งที่แฝงปรัชญาทางศาสนาคือสิ่งที่ได้รับจาก  "ประเพณีไหลเรือไฟ"  ความเชื่อจากอานิสงส์ที่ได้รับร่วมทำบุญ  จิตใจที่ทำให้ใสสะอาดจากการฟังเทศน์  และสุดท้ายอุบายที่มีอยู่ในประเพณีคือ  กฏอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

Subcategories